เงินกู้ยืมกรรมการที่มักจะปรากฏอยู่ในงบดุลฝั่งลูกหนี้ เนื่องจากเงินสดของกิจการมีมาก แต่ไม่สามารถให้ตรวจนับได้ จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สำหรับกิจการเอสเอ็มอี บัญชีที่จะถูกนักบัญชีไปพักไว้ก็คือบัญชีลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ หรือเงินกู้ยืมกรรมการตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ว่า กิจการต้องแสดงหรือรับรู้รายได้ หรือค่าตอบแทนจากโอนทรัพย์สิน รายได้ค่าบริการ และดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน เพื่อการคำนวณกำไร หรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรตามราคาตลาด ณ วันที่มีการโอนขายทรัพย์สิน หรือสินค้าให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินนั้น ในกรณีที่ผลตอบแทนดังกล่าว หรือได้รับผลตอบแทน แต่ต่ำกว่าราคาตลาด ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงเหตุผลอันสมควร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร มีอำนาจประเมินผลตอบแทนให้เป็นไปตามราคาในวันที่เกิดกิจการมีรายได้นั้นได้
สำหรับลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ อัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็น ได้แก่ อัตราที่กิจการกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่น หรือกู้ยืมจากบุคคลภาย นอกแต่ถ้ากิจการนำเงินสดในมือของตนออกให้กู้ยืม โดยมิได้มีแหล่งเงินกู้ยืมเลยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชยืในขณะนั้น สำหรับระยะเวลา 1 ปีเป็นเกณฑ์(หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/936 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2532) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/3598 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535) อ้างอิงหนังสือการบัญชีภาษีอากร ของอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ เขียนไว้ “เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล” ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย
(ก) ถ้านำเงินของบริษัทที่มีอยู่ไปให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานประเมินฯ ประเมินดอกเบี้ยที่ควรได้รับตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในเวลาที่มีการกู้ยืม
(ข) ในกรณีนำเงินที่กู้ยืมมาจากผู้อื่นไปให้กู้ยืม โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานประเมินฯ ดอกเบี้ยที่ควรได้รับตามอัตราดอกเบี้ยกู้ในเวลาที่มีการกู้ยืม
ตัวอย่าง เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัดประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างในบัญชีของห้างปรากฏว่ามียอดเงินคงเหลือยกมาประมาณ 3,000,000 บาท และในแต่ละเดือนมีการรับ-จ่ายมีเงินสดคงเหลือประมาณเดือนละ 2 ถึง 3 ล้านบาท แต่มิได้นำไปฝากธนาคารหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้เก็บรักษา ดังนี้ถือว่าห้างฯ ได้ให้หุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมเงินดังกล่าว และเป็นการให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินฯ มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยดังกล่าว ได้ตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้น